หัวใจคนเรามี 4 ห้อง แบ่งซ้าย-ขวา โดยผนังของกล้ามเนื้อหัวใจ และแบ่งเป็นห้องบน–ล่างโดยลิ้นหัวใจ ในทุกๆ วัน หัวใจคนเราจะเต้นประมาณ 100,000 ครั้ง และสูบฉีดเลือดประมาณวันละ 2,000 แกลลอน เปรียบเสมือนการทำงานปกติของ "หัวใจ" แต่ถ้าวันหนึ่งหัวใจเราเกิดอาการผิดปกติขึ้นมาล่ะ จะทำอย่างไร?
โรคหัวใจ สามารถป้องกันได้ เพียงให้ความสำคัญกับการเลือกอาหารการกิน เน้นเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย รวมถึงระวังไม่ให้เครียดจนเกินไป นอกจากนี้ เรายังสามารถเลือกกิน อาหารบำรุงหัวใจ เพื่อให้หลอดเลือด และหัวใจของเราแข็งแรงขึ้นอีกทางหนึ่งได้ด้วย อาหารบำรุงหัวใจ จะมีอะไรบ้างนั้น มาติดตามต่อกันได้เลย
1. เมนูปลา
โดยเฉพาะปลาทะเล เช่น ปลาทู ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ควรกินอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพราะน้ำมันจากปลาทะเล สามารถช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้
2. ผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด
ไม่ว่าจะเป็น ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง กีวี แก้วมังกร กล้วย แอปเปิ้ล องุ่น มะละกอ สัปปะรด เนื่องจากผลไม้เหล่านี้มีเส้นใยอาหาร วิตามินและแร่ธาตุสูง ช่วยบำรุงร่างกาย และช่วยลดไขมันในเลือด อีกทั้งปริมาณน้ำตาลก็ไม่สูงมาก
3. พืชตระกูลถั่ว
พืชตระกูลถั่ว สามารถช่วยลดคอเลสเตอรอล และป้องกันโรคหัวใจได้ดี จะกินเป็นของว่างแทนขนมเลยก็ได้
4. มะเขือเทศ
มะเขือเทศจะช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอล และความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
5. ผักใบเขียว
ผักคะน้า ผักโขม บร็อกโคลี่ รวมถึงผักใบเขียวอื่นๆ ต่างก็มีวิตามินและแร่ธาตุที่ช่วยบำรุงหัวใจ
6. ทับทิม
ในทับทิมมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ในปริมาณมาก จึงลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้
7. อาหารไขมันต่ำ
เนื่องจากอาหารไขมันสูง สามารถเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดไขมันสะสมในกระแสเลือด จนไปเกาะอยู่ตามผลังหลอดเลือด และทำให้มีความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ คุณจึงควรเลือกกินอาหารไขมันต่ำอย่างเช่น เนื้อปลา และเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดหนังติดมันจะดีกว่า
8. น้ำมันจากพืช (ในปริมาณน้อย)
หากต้องการใช้น้ำมันในการปรุงอาหาร ควรเลือกใช้น้ำมันที่ทำมาจากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันงา น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันถั่วลิสง และควรใช้ในปริมาณที่น้อยมากๆ
9. ข้าว ขนมปัง ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี
ใยอาหารชนิดละลายน้ำ ที่พบได้ในธัญพืช เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต รำข้าว ถั่วเมล็ดแห้ง ผัก ผลไม้ จะช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอล และระดับน้ำตาลในเลือดลดลง อีกทั้งยังช่วยดูดซึมน้ำไว้ในกากใยอาหาร ช่วยให้การทำงานของระบบลำไส้และการย่อยอาหารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
10.อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ
แหล่งสำคัญของอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ คือ วิตามินเอ (แคโรทีน) วิตามินอี วิตามินซี ซึ่งสามารถพบได้ในแครอท แอพริคอท ฟักทอง มะม่วง ผักโขม แคนตาลูป ปวยเล้ง ลูกพีช บรอกโคลี ผักบุ้ง น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอก คำฝอย น้ำมันเมล็ดดอก ทานตะวัน อัลมอนด์ จมูกข้าวสาลี ส้มเขียวหวาน มะเขือเทศ ส้มเช้ง ฝรั่ง กีวี่ ส้มโอ ถั่วงอก กะหล่ำปลี บรอกโคลี พริก มะนาว
บริการด้านอาหาร: อาหารดีต่อใจ บำรุง "หัวใจ" ให้แข็งแรง อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://snss.co.th/dt_post/catering-service/