การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็กนั้นมีหลายขั้นตอน เริ่มด้วยการซักประวัติ และการตรวจร่างกายเพื่อประเมินว่าผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจหรือไม่ แล้วจึงพิจารณาส่งตรวจอื่นต่อไป ซึ่งได้แก่ การถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chest x-ray) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electorcardiogram) คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) การตรวจสวนหัวใจ (Cardiac catheterization) หรือการตรวจอื่น ๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็กให้ถูกต้อง
วินิจฉัยเบื้องต้น…จากการซักประวัติ
การซักประวัติเพื่อการวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็กก็เช่นเดียวกับในโรคทั่วไป ควรถามถึงอาการสำคัญที่นำผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคหัวใจ เข้ารับการตรวจ และ รักษา ได้แก่ เหนื่อยง่าย โดยในเด็กเล็กหรือเด็กทารกจะสามารถสังเกตได้ว่าเวลาดูดนมจะเหนื่อยง่าย และ หยุดพักเป็นระยะ หรือใช้เวลาในการดูดนมนาน จมูกบานหรือชายโครงบุ๋ม , นำหนักไม่เพิ่ม, เหงื่อออกง่าย หรือฟังได้เสียงหัวใจผิดปกติ ในรายเป็นรุนแรง อาจมีอาการเขียว ร่วมด้วย โดยอาการเขียว เป็นลักษณะสีคล้ำบริเวณผิวหนัง ลิ้น เล็บ และเขียวมากขึ้นขณะร้องไห้ ในเด็กโตอาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น การหอบเหนื่อยขณะมีกิจกรรม หรือออกกำลังกาย และบางราย อาจมีประวัติเป็นลม หรือเจ็บหน้าอก ร่วมด้วย เป็นต้น
การตรวจพิเศษทางหัวใจในเด็ก
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) สามารถบอกได้ถึง จังหวะ หรืออัตราการเต้นของหัวใจ หัวใจแต่ละห้องโตหรือไม่ เซลล์หัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ เป็นต้
- การถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chest x-ray)หรือการเอกซเรย์ปอด สามารถบอกตำแหน่ง ขนาด ลักษณะของหัวใจและลักษณะหลอดเลือดในปอด นอกจากสามารถบอกขนาดของหัวใจและรูปร่างว่าผิดปกติหรือไม่ ยังช่วยบอกผู้ป่วยมีภาวะน้ำท่วมปอดหรือไม่อีกด้วย
การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
- การตรวจผ่านทางผนังทรวงอกด้านหน้า (Transthoracic echocardiography) สามารถเห็นความผิดปกติของหัวใจลิ้นหัวใจ และหลอดเลือด ทิศทางการไหลของเลือด และอาจบอกถึงความดันในห้องหัวใจและหลอดเลือดได้ เป็นการตรวจที่ปลอดภัยไม่เจ็บปวด ไม่มีผลข้งเคียงจากคลื่นเสียงใดๆ เพียง แต่เด็กต้องร่วมมือ โดยการนอนนิ่ง ๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง ในรายที่เด็กเล็กที่ไม่ร่วมมือ และร้อง จะทำให้การตรวจไม่ได้ข้อมูลที่ดีและถูกต้อง จำเป็นต้องให้ยานอนหลับอ่อน ๆ ก่อนการตรวจ
- การตรวจผ่านทางหลอดอาหาร (Transesophageal echocardiography) ใช้ในกรณีที่ตรวจผ่านทางผนังทรวงอกด้านหน้าแล้วเห็นไม่ชัดเจน เช่น ดูผนังหัวใจรั่วด้านบน หรือดูลิ่มเลือดในหัวใจห้งซ้ายบน และใช้ร่วมกับการทำหัตถการปิดผนังหัวใจรั่ว เป็นต้น
การตรวจสวนหัวใจ (Cardiac catheterization)
ในกรณีที่หัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นมาก หรือ ซับซ้อน ไม่สามารถบอกชัดเจนจากการทำ Echocardiogram ก็ต้อง ทำการตรวจสวนหัวใจ (Cardiac catheterization)และฉีดสี รวมทั้งวัดความดันในห้องหัวใจและเส้นเลือด เพื่อให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็ก อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/