ผู้เขียน หัวข้อ: โรคมะเร็งทอนซิล (Cancer of tonsil)  (อ่าน 415 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 746
    • ดูรายละเอียด
โรคมะเร็งทอนซิล (Cancer of tonsil)
« เมื่อ: 03 ตุลาคม 2023, 21:10:16 pm »
มะเร็งทอนซิล พบได้น้อย (ประมาณร้อยละ 0.5 ของมะเร็งทั้งหมด) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบมากในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปีพบได้ประปราย ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงข้างเดียว


สาเหตุ

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่

    การสูบบุหรี่ และการเสพยาสูบในรูปแบบอื่น ๆ
    การดื่มสุราจัด
    การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papilloma virus/HPV) จากการมีเพศสัมพันธ์โดยทางปาก
    มีการบริโภคสารก่อมะเร็ง เช่น การกินหมาก
    การบริโภคผักและผลไม้น้อย


อาการ

มีอาการเจ็บคอเรื้อรังข้างหนึ่ง อาจเจ็บร้าวไปที่หูข้างเดียวกัน อาจพบมีเลือดปนในน้ำลายหรือเสมหะ มีกลิ่นปากเรื้อรัง กลืนลำบาก พูดเสียงคับปาก หายใจลำบากร่วมด้วย

มักตรวจพบว่าทอนซิลโตข้างหนึ่ง และต่อมน้ำเหลืองใต้คางหรือข้างคอโตจากการแพร่กระจายของมะเร็ง (บางครั้งอาจเป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์)


ภาวะแทรกซ้อน
เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการที่มะเร็งลุกลามไปที่อวัยวะข้างเคียง เช่น โคนลิ้น โพรงไซนัส กระดูกกราม กระดูกใบหน้า

ในระยะท้าย มะเร็งมักแพร่กระจายผ่านเข้ากระแสเลือดไปที่ปอด (เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก), ตับ (เจ็บชายโครงขวา ตาเหลืองตัวเหลือง ท้องมาน), กระดูก (ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตัดชิ้นเนื้อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ และใช้กล้องส่องตรวจกล่องเสียง หลอดลมและหลอดอาหาร เพื่อดูว่าการลุกลามของมะเร็งมายังอวัยวะเหล่านี้ จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน- PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับรังสีบำบัด บางรายอาจให้เคมีบำบัดร่วมด้วย

ผลการรักษา โดยเฉลี่ยผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี มากกว่าร้อยละ 60


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการเจ็บคอเรื้อรังข้างหนึ่ง, เจ็บคอร่วมกับเจ็บร้าวไปที่หูข้างเดียวกัน, มีเลือดปนในน้ำลายหรือเสมหะ, มีกลิ่นปากเรื้อรัง กลืนลำบาก หรือพูดเสียงคับปาก, มีก้อนแข็ง (ต่อมน้ำเหลือง) ที่ใต้คางหรือข้างคอ

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งทอนซิล ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
    ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
    ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
    ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
    ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

-    มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
-    ขาดยาหรือยาหาย
-    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งทอนซิลด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการเสพยาสูบทุกรูปแบบ (เช่น การเคี้ยวยาสูบ การสูดยานัตถ์)
    หลีกเลี่ยงการดื่มสุราจัด
    หลีกเลี่ยงการกินหมาก
    ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเอชพีวี ด้วยการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เสรีและไม่ปลอดภัย รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ควรปรึกษาแพทย์ในการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี

ข้อแนะนำ

1. ผู้ที่มีอาการเจ็บคอและทอนซิลโตข้างหนึ่งเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

2. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี




โรคมะเร็งทอนซิล (Cancer of tonsil)  อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/

 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทเว็บไซต์ฟรี